เอกชนไทย-สปป.ลาว หนุนยกระดับระบบขนส่ง สร้างจุดเชื่อมโยง 3 ประเทศ ฝันไกลข้ามแดนจีนสู่ยุโรป หอการค้าไทยชงรัฐเร่งเชื่อมขนส่งรถ-เรือ-ราง ครบวงจร ชี้รถไฟจีน-ลาวช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง 2 หมื่น/เที่ยว ด้านสภาการค้า สปป.ลาว ชูนโยบาย Land Link หนุนปั้นเขต ศก.พิเศษปลุกลงทุน พร้อมเชื่อมเส้นทางสู่เวียดนาม ประเทศที่ 4
นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการกลุ่มการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน เปิดเผยระหว่างกิจกรรม Business Talk และ Business Networking ในช่วงการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ว่า หากไทยสามารถเชื่อมโยงระบบขนส่งกับเส้นทางรถไฟจีน-ลาวได้ จะเป็นโอกาสขยายการส่งออกไปไม่ใช่เฉพาะจีน
แต่สามารถขยายไปยังตลาดยุโรปได้ ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการขนส่งสินค้าทางถนนเส้นทางคุนหมิง-บ่อเต็น-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์-หนองคาย-แหลมฉบัง ปัจจุบันประมาณ 113,820 บาท ใช้เวลาขนส่ง 4 วัน หากเปลี่ยนเส้นทางมาใช้ระบบรางตั้งแต่คุนหมิง-แหลมฉบัง จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 92,654 บาท ลดลง 21,166 บาท
“การเชื่อมโยงระบบขนส่งนั้นต้องการขยายจุดเชื่อมต่อทั้งรถ-เรือ-ราง โดยรถถือว่าประเทศไทยมีศักยภาพเส้นทางการขนส่งสามารถเชื่อมต่อไปในทุกจุด แต่สิ่งที่ต้องขยายต่อไปคือ เรือ-ราง และเรือนั้น ท่าเรือขนส่งสำคัญของไทยมี 2 ท่าเรือ คือ ท่าเรือคลองเตย ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถขยายได้แล้ว และการให้บริการต่อปีอยู่ที่ 1.5 ล้านตู้ และท่าเรือแหลมฉบัง
ปัจจุบันให้บริการ 8 ล้านตู้ต่อปี และอยู่ระหว่างการขยายออกไปในเฟสที่ 2 และ 3 โดยมีเป้าหมายการให้บริการที่ 18 ล้านตู้ต่อปี ซึ่งเห็นว่าจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่เป็นท่าเรือแห่งภูมิภาค เชื่อมโยง 3 ประเทศ และเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับ สปป.ลาว จีนตอนใต้ เหมือนท่าเรือ Hamburg เยอรมนี หากดำเนินการได้จะทำให้ระยะเวลาการขนส่งเร็วขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้จีน ลาว เข้ามาเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเลด้วย”
ทั้งนี้ หอการค้าไทยมีข้อเสนอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดจุดเชื่อมต่อการขนส่งให้มากขึ้น เพราะจะเป็นโอกาสขยายการส่งออกและเชื่อมต่อการขนส่งไม่ใช่จีน ลาว แต่สามารถขยายไปยังเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ได้ในอนาคต พร้อมทั้งเสนอให้ส่งเสริมและสนับสนุนการค้าชายแดน และการค้าข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศ ไทย สปป.ลาว และจีน สร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยให้มีการพิจารณากำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พร้อมพิจารณาปริมาณ คุณภาพของรถบรรทุกให้เหมาะสม
ทั้งยังสนับสนุนจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกการค้าผ่านแดนและค้าชายแดน บูรณาการทุกหน่วยงานเป็นจุดเดียวกัน (one stop service) อำนวยความสะดวกลดขั้นตอน จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ (PMO) บริหารโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกัน พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล national single window (NSW) แบบอิเล็กทรอนิกส์ 3 ประเทศ พัฒนาระบบการจัดเก็บเอกสารและการเงิน เพื่อลดขั้นตอนทางเอกสารระหว่างประเทศ และพัฒนาระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (cold chain logistics) สำหรับส่งออก พืช ผัก ผลไม้ อาหารทะเลระหว่างประเทศ
สำหรับมูลค่าการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างจีน-สปป.ลาว ตั้งแต่เปิดบริการรถไฟจีน-ลาว ธ.ค. 64-กลาง ม.ค. 65 จีนขนส่งสินค้าไปยังลาว มูลค่า 157.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านรถไฟ 153 ขบวน มีปริมาณ 59,500 ตัน
นายจันทอน สิดทิไซ รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และในฐานะประธานบริษัท Petroleum Trading (PTL Holding) จำกัด และประธานบริษัท Vientiane Logistics Park (VLP) กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายของรัฐบาล สปป.ลาว ได้ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดย สปป.ลาว มีเป้าหมายที่จะเป็น Land llnk เชื่อมโยงขนส่งและยกระดับโลจิสติกส์ทั้งรถไฟ ทางด่วน ซึ่งจะเป็นเส้นทางใหม่ในอนาคต
ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวทางบริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนายกระดับการลงทุนระบบขนส่งใน สปป.ลาว ทั้งยังขยายเส้นทางเชื่อมต่อทางเวียดนามด้วย เมื่อสำเร็จเชื่อว่าจะเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและคนที่สำคัญในอนาคต“ด้านการตรวจสอบสินค้า บริษัทได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐของ สปป.ลาว เสนอทางการจีนให้ตั้งจุดตรวจคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะพืชเกษตร ที่เวียงจันทน์ เมื่อตรวจเสร็จก็สามารถส่งตรงถึงจีนได้โดยไม่ต้องตรวจซ้ำ ทางจีนก็เห็นชอบ คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นด้วยและต้องการให้เกิดขึ้นอีกด้าน คือ การยกระดับและพัฒนาให้จัดทำเขตเศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว เชื่อว่าจะส่งเสริมการค้าชายแดนให้เติบโตมากขึ้น”
Credit : https://www.prachachat.net/economy/news-946325