ผู้ส่งออกลำไยภาคเหนือ-ตะวันออก หวั่นตลาด 3 หมื่นล้าน สะดุดซ้ำรอยทุเรียน หลังพบเพลี้ยแป้งอื้อ ทางการจีนตรวจเข้มโควิด-รถบรรทุกสินค้าจอดรอคิวยาว ตู้คอนเทนเนอร์ขาด เร่งผนึกกำลังวางแนวปฏิบัติ 4 ข้อหลักก่อนผลผลิตจะออกมาในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ย้ำโรงคัดบรรจุส่งออกต้องผ่าน GMP Plus-พัฒนาคุณภาพลำไย-มีแรงงานพอ-เข้มงวดโรคศัตรูพืชเพลี้ยแป้ง
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (จันทบุรี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและรับมือกับการส่งออกลำไยที่อาจจะเกิดปัญหาซ้ำรอยที่เคยเกิดกับการส่งออกทุเรียน ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้จะเชิญผู้เกี่ยวข้องกับลำไยภาคตะวันออก เช่น เกษตรกร สหกรณ์ ล้ง ผู้รวบรวมผลไม้ ผู้ส่งออก มาร่วมหารือ โดยวางแผนจะนำโมเดลที่ดำเนินการกับทุเรียนมาใช้ เพราะขณะนี้จีนที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญยังคงเข้มงวดกับสถานการณ์โควิด-19
โดยจะวางแนวปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 4 เรื่อง คือ 1.ความเข้มข้นโรงคัดบรรจุ ส่งออกจำนวน 96 ล้ง (จันทบุรี 94 แห่ง สระแก้ว 2 แห่ง) จะต้องผ่านการประเมิน GMP Plus ก่อนเปิดรับซื้อ 2.การพัฒนาคุณภาพลำไย และการทำข้อตกลง สัญญาซื้อขายแยกเบอร์หรือเหมารวม ให้สัญญาการซื้อ-ขายเป็นธรรม 3.การบริหารจัดการแรงงานให้เพียงพอ และ 4.ความเข้มข้นในเรื่องของโรคศัตรูพืช โดยเฉพาะเพลี้ยแป้งที่จีนเข้มงวดมาก
ลำไยตะวันออกเตรียมรับมือ
นายทินกฤต ชีวินวรกูล นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกลำไย กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้สมาคมได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผลผลิตลำไยที่กำลังจะออกมาในฤดูการผลิตปี 2565 เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาการส่งออกไปจีนเช่นเดียวกับปี 2564 ที่ถือว่าวิกฤตหนักสุด ทั้งเรื่องเพลี้ยแป้ง ทางการจีนมีการตรวจโควิด-19 เข้มงวด และมีการปิดด่านชายแดนโดยไม่แจ้งกำหนดเปิด ทำให้รถต้องจอดรอนานกว่า 15-90 วัน ทำให้ต้องขนลำไยกลับมาส่งทางเรือ
แต่ก็ประสบปัญหาการขาดตู้คอนเทนเนอร์อีก กว่าจะส่งลำไยเข้าจีนได้ ผลลำไยก็เสียหายไม่มีคุณภาพ ทำให้ราคาตกต่ำ ซึ่งทุกฝ่ายต้องหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้คาดว่าปริมาณลำไยฤดูกาลนี้อาจจะเหลือเพียง 50% เนื่องจากปีที่แล้วราคาไม่ดี ทำให้เกษตรกรโค่นต้นทิ้งไปจำนวนมาก
นางสาววรกัญญา ปัญญาประเสริฐกิจ กรรมการสมาคมผู้ค้าและส่งออกลำไย จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า การส่งออกลำไยจะมีปัญหาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ตู้คอนเทนเนอร์มีไม่เพียงพอ เนื่องจากบริษัทขนส่งทางเรือมักจะให้ใช้ตู้เก่าที่มีจำนวนน้อย เพราะตู้บรรจุลำไยจะมีกำมะถันกัด ต่างจากตู้บรรจุทุเรียน มังคุด
2.ด่านโหย่วอี้กวนของเวียดนาม แม้จะเปิดให้นำเข้าได้ แต่รับตรวจตู้เพียงวันละ 20-30 ตู้เท่านั้น ทำให้รถที่บรรทุกสินค้าไปต้องจอดรอคิวนาน และเวียดนามมักจะผลักดันรถขนส่งผลไม้ของตัวเองเข้าด่านจีนก่อน 3.ปัญหาลำไยเบอร์ 4 ที่มีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ราคาซื้อขายลำไยในภาพรวมต่ำลง ชาวสวนจะร้องเรียนและต่อรองราคา ควรแยกการซื้อลำไยเบอร์ 1-3 และเบอร์ 4 เพื่อไม่ให้เสียราคาตลาด
ลำไยเหนือล้นตลาด-ราคาตก
นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผลผลิตลำไยในฤดูของจังหวัดเชียงใหม่ปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 3-4% จากปี 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม โดยปีนี้ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาลำไยล้นตลาดและราคาตกต่ำ
โดยจะใช้กลไกการตลาดในการซื้อขายปกติ แบ่งเป็นลำไยแปรรูปและอบแห้ง 40% และบริโภคสด 60% และปีนี้ราคาลำไยสดคละเกรดคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 22-25 บาท/กก. และราคาเกรด AA ประมาณ 30-32 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรต้องการและคุ้มทุน
ส่วนการส่งออกลำไยไปจีน ขณะนี้มีล้งชาวจีนเตรียมเข้ามารับซื้อผลผลิตประมาณ 20-30 ราย แต่เนื่องจากทางการจีนมีความเข้มงวดเรื่องซีโร่โควิด ส่งผลให้ขั้นตอนการส่งออกสินค้าลำไยไปจีนทำได้ยากลำบากมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวล หากหน่วยงานภาครัฐของไทยมีการเจรจาและประสานกับทางการจีนในเรื่องนี้ให้เร็วจะส่งผลดีต่อการส่งออกลำไย อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสภาการอาชีพเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเงินสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยไร่ละ 2,000 บาท เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และผลผลิตปีนี้คาดว่าจะออกมามาก ทำให้ราคาลำไยไม่คุ้มต้นทุนการผลิต
นางสาวกรรณิการ์ ด่านไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทองพูนฟูดส์ ผู้ผลิตและส่งออกผลไม้อบแห้งลำไย จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า “ประเด็นสำคัญของผู้ส่งออกลำไยปีนี้คือ กระบวนการด้านเอกสารที่ต้องขึ้นทะเบียน เพื่อนำลำไยเข้าประเทศจีน ซึ่งเป็นกฎระเบียบใหม่ด้านมาตรฐานสุขอนามัยที่ทางการจีนเข้มงวดหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานค่อนข้างช้า เป็นปัญหาระหว่างทางการไทยและจีน ที่ต้องเร่งปลดล็อกให้ทันฤดูกาลผลผลิตลำไยที่จะออกในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้
ขณะเดียวกันอยากให้ภาครัฐช่วยจัดหาตู้คอนเทนเนอร์รองรับสินค้าลำไยอบแห้งที่จะส่งออกไปจีน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้ตู้คอนเทนเนอร์ยังคงขาดแคลนมาก และราคาค่าระวางเพิ่มสูงมาก ทำให้ต้นทุนการขนส่งได้ปรับเพิ่มขึ้น 200%”
Credit : https://www.prachachat.net/local-economy/news-954828